ตะโก ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros rhodocalyx Kurz จัดอยู่ในวงศ์มะพลับ (EBENACEAE) ชื่อสามัญ Ebony ตะโกเป็นต้นไม้ถิ่นกำเนิดในประเทศไทย จึงเป็นต้นไม้ไทยแท้ ๆ ขึ้นเองตามธรรมชาติตามป่าหรือใกล้นา ซึ่งส่วนใหญ่ ตามชนบทก็ดูเป็นต้นไม้ธรรมดา ไม่ค่อยนำมาใช้ประโยชน์มากนัก แต่มีกลุ่มผู้ปลูกเลี้ยงไม้บอนไซได้นำต้นตะโกมาจัดตัดแต่งเป็นไม้บอนไซ ทำให้บอนไซตะโกให้ความสวยงาม มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น ในอดีตตะโกเป็นไม้ดัดโบราณที่ เราสามารถหาชมได้ตามหนังสือไม้ดัด หรือบางสถานที่จะปลูกเป็นไม้ประดับที่สวยงามเยี่ยม
ลักษณะของตะโก
ต้นตะโก เป็นไม้พันธุ์ดั้งเดิมที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย กัมพูชา เมียนมาร์ ลาวและเวียดนาม เป็นไม้ป่าที่พบเห็นได้ตามธรรมชาติ ทั้งป่าละเมาะ ป่าดงดิบและบริเวณชายทุ่งนา ที่มีความสูงระหว่าง 40-300 เมตรระดับน้ำทะเล ทั่วทุกภูมิภาคทั้งประเทศ มีชื่อเรียกในแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกันไป เช่น ทางภาคเหนือของไทยเราส่วนใหญ่ จะเรียกว่า พระยาช้างดำ ส่วนจังหวัดเชียงใหม่จะเรียกว่า มะถ่านไฟผี โดยชื่อทั้งสองนั้นน่าจะมาจากสีของเนื้อไม้ที่ดำขลับของต้นตะโก ส่วนต่างๆ ของไม้ชนิดนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน ทั้งสำหรับนำผลมารับประทานเป็นผลไม้ หรือจะนำมาใช้เป็นสีย้อมผ้าก็ได้แต่คุณภาพในการย้อมนั้นด้อยกว่าสีจากลูกมะพลับมาก เนื้อไม้มีความยืดหยุ่น เนื้อเนียนและเหนียว มักนำมาผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ นำมาประกอบเป็นเครื่องใช้ไม้สอย นำทำเป็นเสาเรือนและเป็นส่วนประกอบในงานก่อสร้างต่าง ๆ นอกจากนั้นยังนำมาปลูกเป็นไม้ดัดในงานภูมิสถาปัตย์อีกด้วย
ต้นตะโกที่พบกันมากในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน 6 สายพันธุ์ คือ ตะโกนา ตะโกป่า ตะโกสวน ตะโกดัด ตะโกดำ และตะโกหนู ซึ่งแต่ละพันธุ์ก็จะมีรูปลักษณะของลำต้นแตกต่างกันไป โดยตะโกนาจะมีความสูงประมาณ 10-15 เมตร ลำต้นจะมีเปลือกสีดำ มีร่องตามความยาวของลำต้น ผิวขรุขระ เรือนยอดทรงพุ่ม เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลา ปลายกิ่งย้อยชี้ลงดิน ส่วนตะโกดัดจะมีขนาดเล็กกิ่งก้านเยอะดัดง่าย ส่วนของใบนั้นจะมีสีเขียว ใบรี ขนาดใหญ่ ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ ผลิดอกสีเหลืองครีมเป็นช่อที่ซอกใบและปลายกิ่ง ผลไม้มีสีเหลืองเข้มปนส้มเมื่อสุก
ตะโกหนู เป็นตะโกกลายพันธุ์ มีหลายชนิดแตกต่างกันที่ใบ นิยมเรียกตะโกหนูตามลักษณะใบ เช่นใบมะขาม ใบทับทิม ใบกลม เป็นต้น
ตะโกหนูใบกลมเล็ก เป็นพันธุ์ที่โตช้าแตกใบตามกิ่งมากข้อถี่และกิ่งไม่ค่อยโตจึงเลี้ยงกิ่งและรายละเอียดได้ช้ากว่าตัวใบกลมใหญ่
ใบตะโก ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีค่อนข้างกลม รูปไข่กลับ หรือรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนกลาย ๆ และรูปป้อม ปลายใบมนมีติ่งสั้นหรือมีรอยหยักเว้าเข้าเล็กน้อย โคนใบเป็นรูปลิ่มหรือป้าน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-12 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนาและเหนียว หลังใบเรียบเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน มีเส้นแขนงของใบประมาณ 5-8 คู่ เส้นอ่อนคดไปมามองเห็นได้ทางด้านหลังใบและขึ้นเด่นชัดทางด้านท้องใบ เส้นร่างแหพอสังเกตเห็นได้ทั้งสองด้าน ส่วนเส้นกลางใบออกเป็นสีแดงเรื่อ ๆ และก้านใบสั้นยาวประมาณ 2-7 มิลลิเมตร
ดอกตะโก ออกดอกเป็นช่อ ดอกเป็นแบบแยกเพศและอยู่ต่างต้นกัน ดอกเพศผู้จะออกเป็นช่อเล็ก ๆ ตามกิ่งหรือตามง่ามใบ ในช่อหนึ่งจะมีดอกย่อยประมาณ 3 ดอก ดอกมีกลีบดอก 4 กลีบ มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ก้านดอกยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร มีขนนุ่ม โดยกลีบดอกจะยาวประมาณ 8-12 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันเป็นรูปเหยือกน้ำหรือรูปป้อง ๆ ปลายแยกออกเป็นแฉกเล็ก ๆ เกลี้ยงเกลาทั้งสองด้าน ส่วนกลีบรองดอกยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยปากกว้าง ด้านนอกมีขนนุ่ม ส่วนด้านในมีขนยาว ๆ แน่น ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 14-16 ก้าน มีขนแข็ง ๆ แซม รังไข่เทียมมีขนแน่น ส่วนดอกเพศเมียจะออกตามซอกใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจะเหมือนกับดอกเพศผู้แต่มีขนาดใหญ่กว่า ก้านดอกยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร รังไข่มีลักษณะป้อม มีขนเป็นเส้นไหมคลุม ภายในแบ่งเป็นช่อง 4 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีไข่อ่อนหนึ่งหน่วย ส่วนหลอดท่อรังไข่มีหลอดเดียวและมีขนแน่น ปลายหลอดแยกเป็นแฉก 2 แฉก มีเกสรเพศผู้เทียมประมาณ 8-10 ก้าน มีขนแข็ง ๆ แซมอยู่ โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน
ผลตะโก ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.2-2.4 เซนติเมตร (บ้างว่าประมาณ 3 เซนติเมตร) ผิวผลเรียบ ผลอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงคลุมอยู่หนาแน่น ซึ่งขนเหล่านี้มักหลุดร่วงได้ง่าย ส่วนปลายผลและโคนผลมักบุ๋ม กลีบจุกผลชี้ออกหรือแนบลู่ไปตามผิวของผล ข้างในมีขนสีน้ำตาลแดงและมีขนนุ่มทางด้านนอกพื้นกลีบและขอบกลีบมักเป็นคลื่น เส้นสายกลีบพอเห็นได้ชัด ผลเมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือแดงปนส้ม ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 3-5 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่รีหรือแบน เมล็ดเป็นสีน้ำตาล มีเนื้อหุ้มสีขาวและฉ่ำน้ำ มีขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตร ส่วนก้านผลสั้นมาก มีความยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน
สำหรับการนำมาใช้ประโยชน์เชิงสมุนไพรนั้น แพทย์พื้นบ้านจะนำเปลือกและแก่นของต้นตะโกนามาต้มในน้ำสะอาดและดื่มเพื่อบำรุงกำลัง หากนำมาต้มในน้ำและเติมเกลือไปด้วย จะใช้เป็นยาบ้วนปากเพื่อรักษาโรคในช่องปากได้ ทั้งโรคเหงือกและฟัน ผลตะโกนำมาต้มกับน้ำสะอาดใช้ดื่มเพื่อบำรุงร่างกาย ขับพยาธิ ส่วนผลสดใช้รับประทานเพื่อบรรเทาอาการปวดมวนในช่องท้อง เป็นต้น
ตะโกเป็นต้นไม้ที่นำมาทำเป็นไม้บอนไซที่สวยงามได้หลายรูปแบบ ลำต้นจะดำสนิทด้วยหมึกสีดำ เป็นต้นไม้ชนิดเดียวก็ว่าได้ที่ได้รับการยอมรับลงสีดำที่ลำต้น -กิ่ง ปกติตะโกตามธรรมชาติเมื่ออายุแก่มากหลายปีลำต้นก็จะมีสีดำ ตะโกในภาพทั้งหมด อยู่ที่เชียงใหม่ เวลามีงานประกวดไม้บอนไซจึงได้ชมเสมอ ตะโกเป็นต้นไม้อายุยืน ยอมรับการอยู่ในกระถางบอนไซเล็ก-บางได้
ต้นตะโกเป็นไม้ที่ได้รับความนิยมในการนำมาตกแต่งสวนและนำมาเพาะเป็นไม้กระถาง โดยเฉพาะต้นตะโกดัดขนาดเล็กที่เรียกกันว่า ต้นตะโกหนู เป็นต้นไม้ที่นิยมนำมาใส่กระถางเป็นบอนไซ เพราะมีกิ่งก้านใบที่มีขนาดเล็ก ใบเขียวขจีได้ในทุกฤดู ดูแลง่าย ทนต่อสภาพแห้งแล้ง ไม่มีแมลงมาก่อกวน รดน้ำเพียงวันละ 2 ครั้ง และหมั่นตัดแต่กิ่งสม่ำเสมอ ก็สามารถจัดวางเป็นไม้ประดับสวยๆ บนโต๊ะทำงานหรือมุมห้องได้แล้ว
ตะโก จึงเป็นพันธุ์ไม้ที่สามารถนำมาทำบอนไซได้สวยงามมากอีกชนิดหนึ่ง และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นไม้บอนไซประจำชาติไทยอีกด้วยครับ
ข้อมูลอ้างอิง